วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อสอบปลายภาค

ข้อสอบปลายภาค
          คำสั่งข้อสอบมีทั้งหมด 7  ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ ห้ามลอกกันเขียนคำตอบโดยใช้สำนวนเหมือนกันถือว่ามิใช่ความคิดของนักศึกษาเอง ปรับให้ตกทั้งคู่ ข้อละ 10 คะแนน
______________________________________________________
1. กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีที่มาความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อธิบายพร้อมทั้ง      ยกตัวอย่างประกอบอย่างย่อ ๆ ให้ได้ใจความพอเข้าใจ.
ตอบ  กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีที่มาและความหมายเหมือนกัน เพราะ กฎหมายคือ คำสั่งหรือข้อบังคับจากคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ เป็นข้อบังคับใช้กับคนทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือประเทศนั้นๆ จะต้องปฏิบัติตามและมีสภาพบังคับใช้ที่มีการกำหนดบทลงโทษ กฎหมายมีหลายประเภทและหลายลักษณะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้และการจัดการศึกษาจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นบรรทัดฐานหรือเครื่องมือในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการจัดองค์กร การบริหารงานบุคคล การบริหารทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจน กฎคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ดังนั้นกฎหมายการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคน ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษา เสมือนวิศวกรในการสร้างคนให้เป็นไปตามความต้องการของคนในประเทศ และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขต่อเยาวชนและประเทศชาติ
..................................................................................................................................

2. รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการศึกษา มีสาระหลักที่สำคัญอย่างไร ในประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับ       การศึกษา ยกตัวอย่างประกอบ พอเข้าใจ (รัฐธรรมนูญตั้งแต่แต่ฉบับแรกถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2550)
ตอบ   เมื่อทบทวนที่มาและสาระโดยสรุปของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และพ.ศ.2550 ในส่วนเกี่ยวที่ข้องและเป็นแม่บทของกฏหมายการศึกษาปัจจุบัน ก็พบสาระสำคัญดังนี้
      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 16 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข                
        เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็คือการปฏิรูปการเมืองโดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ
       1.ขยายสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเมือง
       2.การเพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส ในระบบการเมือง
       3.การทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในระหว่าง พ.ศ. 2549-2550 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" (คมช.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 1 ในวันเดียวกันนั้น และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
          เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550    สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยึดตามแนวทางและแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ 4 ประการ คือ
       1.คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน
       2.ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน
       3.การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม
       4.ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ ดังจะเห็นว่ามีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ
          รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง 2 มาตรา คือ
          มาตรา 43    บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกาาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          มาตรา 81    รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุน ให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
          จะเห็นได้ว่า มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉบับเดียวที่ระบุให้มีกฏหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ(มาตรา 81) ซึ่งมีผลทำให้เกิด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฏหมายการศึกษาอื่นอีกหลายฉบับ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของเมืองไทยยุคหนึ่ง
         
          รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550  ก็มีสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ระบุเอาไว้ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มี 2 มาตรา คือ
       มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ
      มาตรา50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
..................................................................................................................................

3. พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ มีกี่มาตรา และมีความสำคัญอย่างไร และประเด็นหรือมาตราใดที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติและต้องยึดถือปฏิบัติ 
ตอบ     พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับมีด้วยกัน  20  มาตรา  แต่ละมาตรามีความสำคัญดังต่อไปนี้
          มาตรา  1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า  พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ  พ.ศ.2545”
          มาตรา  2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          มาตรา  3  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประถมศึกษา  พ.ศ.2523
          มาตรา  4  ในพระราชบัญญัตินี้
                                “การศึกษาภาคบังคับ”  หมายความว่า  การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
                                “สถานศึกษา”  หมายความว่า  สถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ
                                “ผู้ปกครอง”  หมายความว่า  บิดามารดา  หรือบิดา  หรือมารดา  ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และหมายความรวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำหรือที่เด็กอยู่รับใช้การงาน
                                “เด็ก”  หมายความว่า  เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก  เว้นแต่เด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว
                                “คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”  หมายความว่า  คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
                                “คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา”  หมายความว่า  คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
                                “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  หมายความว่า  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาอยู่ในสังกัด

                                “พนักงานเจ้าหน้าที่”  หมายความว่า  ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                                “รัฐมนตรี”  หมายความว่า  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
           มาตรา  5  ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณี  ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา  และการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อระหว่างสถานศึกษาที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับโดยให้ปิดประกาศไว้  ณ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสถานศึกษา  รวมทั้งต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็กทราบก่อนเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
          มาตรา  6  ให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาเมื่อผู้ปกครองร้องขอ  ให้สถานศึกษามีอำนาจผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียนก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
           มาตรา  7  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ  ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น  เพื่อตรวจสอบการเข้าเรียนของเด็ก  หากพบว่ามีเด็กไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาตามมาตรา  5  ให้ดำเนินการให้เด็กนั้น  ได้เข้าเรียนในสถานศึกษานั้น  แล้วรายงานให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณีทราบ
           ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้เด็กได้เข้าเรียนตามวรรคหนึ่งได้  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องที่ที่พบเด็ก  แล้วแต่กรณี  เพื่อดำเนินการให้เด็กได้เข้าเรียนในสถานศึกษา
            มาตรา  8  ในการปฏิบัติหน้าที่  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          มาตรา  9  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่  ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
          มาตรา  10  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา 
           มาตรา  11  ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง  มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย  ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณี  ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่  เว้นแต่ผู้ปกครองได้อาศัยอยู่ด้วยกับผู้นั้น       การแจ้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
            มาตรา  12  ให้กระทรวงศึกษาธิการ  คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสถานศึกษา  จัดการศึกษาเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  สังคม  การสื่อสารและการเรียนรู้  หรือมีร่างกายพิการ  หรือทุพพลภาพ  หรือเด็กซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้  หรือไม่มีผู้ดูแล  หรือด้อยโอกาส  หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม  รวมทั้งการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก  สื่อ  บริการ  และความช่วยเหลืออื่นใดตามความจำเป็น  เพื่อประกันโอกาสและความเสมอภาคในการได้รับการศึกษาภาคบังคับ
            มาตรา  13  ผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
            มาตรา  14  ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  9  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
            มาตรา  15  ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร  กระทำด้วยประการใด ๆ  อันเป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
             มาตรา  16  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา  11  หรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
             มาตรา  17  ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ให้คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
             มาตราที่  18  ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  ให้คณะกรรมการการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการการประถมศึกษาอำเภอ  หรือคณะกรรมการการประถมศึกษากิ่งอำเภอ  แล้วแต่กรณี  ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  และให้สำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร   สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ  หรือสำนักงานการประถมศึกษากิ่งอำเภอแล้วแต่กรณี  ทำหน้าที่แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
             มาตรา  19  ให้บรรดากฎกระทรวง  ประกาศ  ระเบียบ  ข้อบังคับ  และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา  พ.ศ.2523  ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้
            มาตรา  20  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้  และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่  กับมีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
          จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่ามาตราที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติ  คือ มาตราที่  หากผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

..................................................................................................................................

 4. ท่านเข้าใจว่า หากมีใครเข้ามาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เปิดการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีสอนทั้งปีที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น สามารถมาปฏิบัติการสอนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีความผิดหรือบทกำหนดโทษอย่างไร  ถ้าได้จะต้องกระทำอย่างไรมิให้ผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
ตอบ     พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๖  กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิ หรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา
          เนื่องจากเหตุผลและความจำเป็นของสถานศึกษาในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งต้องใช้บุคคลเข้าประกอบวิชาชีพ เพื่อจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุที่ไม่สามารถสรรหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้ามาดำเนินการสอนได้  คณะกรรมการคุรุสภาในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๗  เมื่อวันที่ ๓๐  มกราคม  ๒๕๕๗  และครั้งที่     ๒/๒๕๕๗ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีมติอนุญาตให้บุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาต ดังนี้
คุณสมบัติการพิจารณาอนุญาต
            ผู้ที่จะขอเข้าประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
           ๑. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี
           ๒. มีคุณวุฒิตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
              (๑) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า
                (๒) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี  ที่ ก.ค.ศ.รับรอง  ซึ่งกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู  และเป็นวุฒิปริญญาในสาขาที่สอดคล้องกับระดับชั้นที่เข้าสอน ตามที่คุรุสภากำหนด ยกเว้นโรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนโครงการพิเศษต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัด และมีคะแนนเฉลี่ย ๒.๕ ขึ้นไป โรงเรียนถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนเสี่ยงภัย ตามประกาศของทางราชการ และจัดให้มีการอบรมในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนเบื้องต้นด้วย
          ๓. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖
เงื่อนไขการอนุญาต
          ๑. สถานศึกษาชี้แจงเหตุผลความจำเป็น หรือความขาดแคลน ต้องรับบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู 
          ๒. สถานศึกษาจะต้องแนบประกาศการรับสมัครและการสรรหาบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู
          ๓.  สถานศึกษาจะต้องแนบคำสั่งของคณะกรรมการของสถานศึกษาในการคัดเลือกบุคคลเข้าประกอบชาชีพครู

            ๔. สถานศึกษาต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย ผ่านต้นสังกัด โดยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตเท่านั้น ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารสถานศึกษา
       ๕. ระยะเวลาการอนุญาตครั้งละไม่เกิน ๒ ปี และต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
๖. หากผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฝ่าฝืนจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือปฏิบัติการสอนผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาต การอนุญาตดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด
มติคณะกรรมการคุรุสภาครั้งที่ ๘/๒๕๕๗ วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ และครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๗ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
          อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ขออนุญาตฯ ครั้งที่ ๒ และครั้ง ๓ ได้อีกไม่เกิน ๒ ปี  แต่จะต้องพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

..................................................................................................................................

5. สมบัติเป็นครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ประพฤติผิดกระทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเยาวชน หากเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  จะต้องทำอย่างไร และมีบทลงโทษอย่างไร
ตอบ     ก่อนอื่นเราจะต้องพิจารณาถึงความรุนแรงหรือบาดแผลที่เด็กได้รับ หรือเจตนาที่ผู้กระทำผิดแสดงออกให้เห็นผ่านกล้องวงจรปิดหรือหลักฐานอื่น ๆ  เช่นกรณีนี้น่าจะตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี
          อันตรายสาหัสนั้น คือ (8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
..................................................................................................................................

6. ช่วงที่นักศึกษาไปทดลองสอนที่โรงเรียนเทอม 2  และในเทอมต่อไป นักศึกษาเข้าไปทดลองสอนจริง นักศึกษาคิดว่าจะนำกฎหมายการศึกษาไปใช้โดยกำหนดคนละ 2 ประเด็นที่คิดว่าจะนำกฎหมาย   ไปใช้ได้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ  ในฐานะที่ดิฉันจะต้องไปทดลองสอนในโรงเรียนเป็นเวลา  ปีในสถานศึกษา  ดิฉันคิดว่าดิฉันจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ว่าด้วยการลงโทษเด็กนักเรียน  เราจะต้องรู้กฎหมายนี้เป็นอย่างดีว่าเราสามารถลงโทษเด็กได้อย่างไรบ้างเมื่อเด็กทำผิดจึงจะถือว่าเหมาะสมและไม่ผิดกฎ  และอีกอย่างหนึ่งที่เราจะต้องรู้ คือ ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเวลาเราไปอยู่ในสถานศึกษานั้นๆ  เราจะต้องปฎิบัติตนอย่างไรจึงจะถือว่าไม่ผิดกฎ  เช่น  การลาโรงเรียนไปทำธุระต่างๆ    การประพฤติปฎิบัติตนระหว่างอยู่ในสถานศึกษา  เป็นต้น
..................................................................................................................................

7. ให้นักศึกษาสะท้อนความคิดการใช้ เว็บบล็อก (weblog) ในการนำมาใช้จัดการเรียนการสอนวิชานี้   พอสังเขป
ตอบ   จากที่ได้เรียนวิชากฎหมายการศึกษา  โดยใช้เว็บบล็อกมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี  เพราะได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้  และไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเราก็สามารถเรียนรู้และทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้นักศึกษาได้รับความสะดวกสบาย  อีกทั้งเนื้อหาที่คุณครูโพสไว้เราก็สามารถนำมาอ่านได้ตลอดเวลา และไม่ต้องกลัวว่ามันจะสูญหรือหายไปไหนและยังช่วยลดรายจ่ายในการซื้ออุปกรณ์เรียนอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น